Loading...
+66 (0) 2354-8543-9
aqhibkkproject@mahidol.ac.th
หน้าหลัก
เกี่ยวกับ AQHI
เกี่ยวกับ AQHI
ความเป็นมาของโครงการ
วารสารวิจัย
การคำนวณค่า AQHI
แนวทางปฏิบัติ
ทำไมต้องเป็น AQHI ?
ปัจจุบันประเทศไทยมีเพียงดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ที่ใช้รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยปกติแล้วค่า AQI ของประเทศไทยโดยกรมควบคุมมลพิษจะประกอบด้วยการแสดงผลสารมลพิษหลัก 6 ชนิด ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซโอโซน (O3) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งทำการเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของสารมลพิษชนิดนั้น ๆ ในแต่ละประเทศ คำนวณและรายงานผลเป็นค่า AQI โดยยึดเอาสารมลพิษที่มีค่าสูงสุดของแต่ละวันเพียงชนิดเดียว ในกรณีนี้ค่าที่ใช้รายงานจะเป็นเพียงค่าดัชนีของสารมลพิษชนิดนั้น ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ แต่ไม่ได้พิจารณาถึงสารมลพิษตัวอื่น ๆ ที่แม้ว่าจะมีค่าน้อยกว่าสารมลพิษที่สูงสุด แต่มีผลในเชิงสุขภาพและในบางกรณีจะมีผลกระทบเสริมฤทธิ์เมื่อได้รับสัมผัสมลพิษ 2 ชนิดขึ้นไป ดังนั้นการแปรค่าผลกระทบจากค่า AQI อาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริงของผู้รับผลกระทบที่ได้รับจากการปลดปล่อยสารมลพิษต่าง ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน อีกทั้งค่า AQI ยังเป็นค่าที่ไม่ได้แสดงผลความเชื่อมโยงในเรื่องสุขภาพ โดยยังไม่มีการรายงานค่าความสัมพันธ์ระหว่างระดับค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารมลพิษที่ได้รับและไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ปกติแล้วค่า AQI จะเป็นค่าที่คำนวณจากผลการตรวจวัดค่าความเข้มข้นของสารมลพิษซึ่งมีจำนวนสถานีตรวจวัดที่ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมากจะมีการติดตั้งเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยง ซึ่งจะไม่สะท้อนถึงความหลากหลายเชิงพื้นที่ในแต่ละเมืองและท้ายที่สุดไม่สะท้อนถึงความเสี่ยงเชิงสุขภาพที่ประชาชนทั่วไปได้รับสัมผัสสารมลพิษดังกล่าว
ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ (AQHI) เป็นเครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดจากการรับสัมผัสสารมลพิษที่แตกต่างกันมากกว่า 1 ชนิดในแต่ละแหล่งกำเนิดอย่างต่อเนื่อง ในการศึกษาของหลาย ๆ ประเทศ เช่น แคนนาดา ค่า AQHI จะพิจารณาจากผลรวมของอัตราการตายร่วมกับการรับสัมผัสสารมลพิษที่แตกต่างกันในระยะสั้น โดยนำเอาค่าผลรวมของสารมลพิษต่าง ๆ เช่น CO, SO2, NO2, O3, PM2.5 และ PM10 มาใช้ในการคำนวณ รายงานในช่วงค่าระดับ 0-10 ในขณะที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการปลดปล่อย SO2, NO2, O3, PM2.5 และอัตราการตายในช่วงปี ค.ศ. 2012-2015 ซึ่งอัตราการตายที่สูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวจะนำมาคำนวณและแสดงผลเป็นค่า AQHI ในแต่ละค่าระดับต่อไป อย่างไรก็ตาม ค่า AQHI สามารถนำไปใช้ได้หลากหลาย เช่น การแสดงผลค่าสถานการณ์ปัจจุบันในแผนที่ซึ่งเป็นดัชนีตัวหนึ่งที่พิจารณาจากการคงอยู่ร่วมกันของสารมลพิษที่ต่างกันหลายชนิด รวมถึงการประยุกต์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์การทำนายผลซึ่งใช้ในการเตือนภัยสถานการณ์คุณภาพอากาศในวันถัดไปโดยจะพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบโดยรวมของสารมลพิษที่หลากหลายชนิด
การนำค่าดัชนี AQHI มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครเองถือเป็นเมืองหนึ่งที่มีปัญหาการจราจรที่เลวร้ายที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองต่างๆ ทั่วโลก และการจราจรถือเป็นสาเหตุหลักของแหล่งกำเนิดสารมลพิษทางอากาศทั้งชนิดอนุภาคขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และ อนุภาคขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง และ O3 ถือเป็นสารมลพิษทุติยภูมิที่ส่งผลต่อคุณภาพอากาศในเขตเมือง และแม้ว่าประเทศไทยได้มีมาตรฐานกำหนดคุณภาพเชื้อเพลิง อาทิปริมาณกำมะถันที่เจือปนอยู่ในน้ำมันดีเซลที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งมีผลต่อปริมาณความเข้มข้นของ SO2 ที่วัดได้จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วกรุงเทพฯ ไม่เกินมาตรฐานรายชั่วโมงที่ 300 ppb อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ทางสถิติของงานวิจัยนี้บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างความเข้มข้นเฉลี่ยรายวันของ SO2 และผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผลเสริมฤทธิ์กันของ SO2 และ PM จากผลการศึกษาของงานวิจัยนี้ ค่า AQHI ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครประกอบด้วยสารมลพิษ 4 ชนิด คือ PM2.5, PM10, SO2 และ O3 การคัดเลือกสารมลพิษสำหรับการสร้างค่า AQHI ของงานวิจัยนี้จะแตกต่างจากการศึกษาในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากการใช้ข้อมูลสุขภาพในพื้นที่ประกอบกับข้อมูลมลพิษทางอากาศและข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ดังนั้น ค่า AQHI จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนสถานการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่แท้จริง รวมถึงเป็นเครื่องมือสำหรับนำไปใช้ในการเฝ้าระวังและเตือนภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ให้เกิดการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์เชิงสุขภาพ รวมถึงพิจารณาเลือกแนวทางการป้องกันตนเองในการรับสัมผัสสารมลพิษในช่วงเวลาวิกฤตได้อย่างเหมาะสมต่อไป
ค่า AQHI ถูกพัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ ภายใต้โครงการ “การพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” โครงการดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยจากหลากหลายสหวิชาชีพ ที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ อาทิ เช่น อนามัยสิ่งแวดล้อม โรคและความเจ็บป่วยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม ชีวสถิติ รวมถึงวิทยาการข้อมูล โดยได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินการวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ผลผลิตที่ได้ คือแผนที่แหล่งที่มาหลักของมลพิษทางอากาศชนิดต่างๆในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการสร้างดัชนีค่า AQHI ต่อไป และได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ทุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม ปีงบประมาณ 2566 โดยผลผลิตหลักคือการสร้างค่า AQHI เพื่อสะท้อนสถานการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่แท้จริง รวมถึงเป็นเครื่องมือสำหรับและนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังและเตือนภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ให้เกิดการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์เชิงสุขภาพ รวมถึงพิจารณาเลือกแนวทางการป้องกันตนเองในการรับสัมผัสสารมลพิษในช่วงเวลาวิกฤตได้อย่างเหมาะสมต่อไป
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับภาคีเครือข่าย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลและนวัตกรรมดิจิตอล (DIDA), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร, สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และ ศูนย์ธรรมาภิบาลข้อมูลและยุทธศาสตร์อัจฉริยะ
2024 Data Governance and Strategic Intelligence Center | Mahidol University
, All right reserved.
จำนวนผู้เยี่ยมชม (ครั้ง)